กว่าจะมาเป็นกาแฟ เครื่องดื่มแก้วโปรดที่เราใช้ปลุกสมองและร่างกายให้ตื่นตัวในทุกเช้านั้น รู้หรือไม่ว่า ความเข้มข้นและรสชาติที่คอกาแฟทุกคนหลงรัก ไม่ได้เกิดจากส่วนผสม ฝีมือบาริสต้า เครื่องชงกาแฟ หรือการเบลนด์ (Blend) ของเมล็ดกาแฟเพียงเท่านั้น แต่รสชาติเหล่านี้ถูกรังสรรค์ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ก้าวแรกของการปลูกต้นกาแฟต่างหาก
วันนี้ เราจะพาทุกคนย้อนไปสู่ต้นกำเนิดแห่งรสชาติ ผ่านการปลูกต้นกาแฟอาราบิก้า กาแฟรสชาตินุ่มละมุนลิ้นที่หลายคนหลงรัก พร้อมตอบคำถามว่าต้นกาแฟปลูกที่ไหนได้บ้าง และเกษตรกรจะมีขั้นตอนในการเพาะปลูกอย่างไร กว่าจะมาเป็นกาแฟอาราบิก้าให้เราได้ดื่มกันอย่างเช่นทุกวันนี้
กาแฟปลูกที่ไหนได้บ้าง ?
สำหรับต้นกาแฟอาราบิก้า นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและสร้างรายได้เป็นอย่างดีให้กับเกษตรกรชาวไทย โดยสายพันธุ์อาราบิก้านี้จะนิยมปลูกที่บริเวณภาคเหนือของไทยอย่างที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ฯลฯ
โดยกาแฟสายพันธุ์นี้จะสามารถปลูกได้ดีมาก ๆ ในสถานที่ที่รับแสงแดดได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังต้องมีการปลูกใต้เงาร่มไม้ เพื่อป้องกันความเสียหายในกรณีที่แดดแรงเกินไป และควรได้รับน้ำฝนอย่างเพียงพอ โดยปริมาณฝนควรอยู่ที่ 1,500 - 2,000 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนอุณหภูมิไม่ควรเกิน 22 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันปัญหาต้นกาแฟขาดน้ำ และแน่นอนว่าในพื้นที่สูงอย่างทางภาคเหนือของไทย ก็เหมาะกับการปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้ได้เป็นอย่างดี
ขั้นตอนการปลูกต้นกาแฟอาราบิก้า
ในส่วนของขั้นตอนการปลูกต้นกาแฟอาราบิก้าให้เติบโตได้ดี มีผลผลิตที่พร้อมส่งนำไปแปรรูปเป็นเมล็ดกาแฟคั่วที่หอมกรุ่นนั้น จะต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมดินให้พร้อมสำหรับการลงเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวที่พิถีพิถันในการคัดสรรทุก ๆ ผลกาแฟ เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุดก่อนส่งต่อไปสู่กระบวนการถัดไป
1. การเตรียมดิน
ทำการกำจัดตอพืช และถางวัชพืช พร้อมปรับพื้นดิน โดยให้คงเอาไว้ซึ่งต้นไม้ใหญ่ สำหรับใช้เป็นร่มเงาให้กับต้นกาแฟในอนาคต
ทำขั้นบันไดสำหรับพื้นที่ลาดเอียง โดยให้ทำการปรับพื้นดินให้เป็นแนวขั้นบันไดขวางแบบลาดเอียง โดยให้ระยะห่างของขั้นบันไดเท่ากับระยะห่างระหว่างแถว
ปรับสภาพดินให้ร่วนซุยและมีค่า pH ที่เหมาะสม ผสมดินและปุ๋ยให้มีสภาพที่ร่วนซุย และให้ทำการตรวจเช็กระดับ pH ให้อยู่ระหว่าง 5.0-5.5 เพื่อให้รากสามารถดูดซึมน้ำและสารอาหารได้อย่างเต็มที่ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการปรับสภาพเพื่อให้พร้อมต่อการเพาะปลูก
2. การเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า
เลือกเมล็ดพันธุ์ที่เชื่อถือได้ สายพันธุ์อาราบิก้าในประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน สามารถหาได้จากเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร อย่าง พันธุ์เชียงใหม่ 80
คัดสรรเมล็ดพันธุ์ สำหรับเกษตรกรที่ต้องหาสายพันธุ์ที่ถูกใจ จะต้องพิจารณาจากขนาดเมล็ดที่มีลักษณะที่สมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการดูจากต้นที่แข็งแรง ความสามารถในการต้านทานโรค และการให้ผลผลิตเป็นสำคัญ
เพาะชำต้นกล้าให้พร้อมต่อการเพาะปลูก โดยอายุที่เหมาะสมของต้นกล้ากาแฟอาราบิก้าจะอยู่ที่ 8-12 เดือน ควรมีใบแท้ประมาณ 4-5 คู่ และมีความสูงอย่างน้อย 20 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะทำการชำไว้ในถุงพลาสติก และเอาไปไว้ในเรือนเพาะชำ เพื่อรอนำไปปลูกต่อในพื้นที่จริง
3. การปลูกต้นกาแฟอาราบิก้า
เตรียมหลุมดินขนาดที่เหมาะสม ทำหลุมขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยดินผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว ในอัตรา 3-5 กิโลกรัม และหินฟอสเฟตอัตรา 100-200 กรัมต่อหลุม
ช่วงต้นฝน ระยะเวลาการปลูกที่เหมาะสม ย้ายต้นกล้าลงหลุมปลูกในช่วงต้นฝนหรือช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
หลักการปลูกป้องกันต้นกาแฟโยกคลอน วางต้นกล้าลงในหลุมปลูกที่เตรียมไว้กลบดิน กดดินรอบปากหลุมให้แน่น และใช้ไม้หลักปักเฉียง ใช้เชือกมัดต้นกาแฟติดกับไม้ให้แน่น เพื่อป้องกันการโยกคลอน
รักษาสภาพความชื้นของดินและต้นกาแฟ หลังลงต้นกล้าแล้วให้คลุมด้วยหญ้าแห้ง ให้ห่างจากต้นประมาณ 10 เซนติเมตร อาจทำร่มเงาชั่วคราวสำหรับช่วยบังแสงแดด
4. การดูแลรักษาต้นกาแฟและศัตรูพืชที่เจอบ่อย
ปรับการใส่ปุ๋ย ในช่วงปีแรกถึงปีที่ 2 ให้ผสมปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีก่อน ในอัตราส่วนปุ๋ย 1-2 กิโลกรัมต่อต้น หลังจากนั้นในช่วงปีที่ 3 เป็นต้นไป ให้ใส่แค่ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราส่วน 3 – 5 กิโลกรัมต่อต้น
ใส่ปุ๋ยเคมีเมื่อดินชื้น ควรใส่ในปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง ปีที่ 1 และ 2 ให้ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ผสมสูตร 46-0-0 อัตรา 150 และ 50 กรัมต่อต้นต่อปีตั้งแต่ปีที่ 3 ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17 หรือ 13-13-21 ในอัตรา 600 กรัมต่อต้นต่อปี โดยหลังเก็บเกี่ยวและตัดแต่ง ให้ปรับไปใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 100 กรัมต่อต้นต่อปีแทน ดูรายละเอียดตารางให้ปุ๋ยต้นกาแฟเพิ่มเติมที่นี่
ปรับการให้น้ำตามความเหมาะสม โดยทั่วไปแหล่งน้ำที่กาแฟต้องการจะมาจากปริมาณฝนตามธรรมชาติ แต่ในช่วงที่เป็นหน้าแล้ง มีฝนตกน้อย ก็จำเป็นที่จะต้องมีการให้น้ำเข้าช่วย
ควบคุมทรงพุ่มต้นกาแฟ ตัดแต่งยอดต้นกาแฟให้มีความสูงโดยประมาณที่ 50 เซนติเมตร เลือกกิ่งหลักที่แข็งแรง 1 กิ่ง (กรณีควบคุมทรงพุ่มเป็นลำต้นเดียว) หรือ 3-5 กิ่ง (กรณีควบคุมทรงพุ่มเป็นหลายลำต้น) และที่สำคัญให้หมั่นตัดกิ่งแขนงหรือกิ่งที่ไร้ประโยชน์ออก เพื่อให้ต้นกาแฟเติบโตได้ดี มีผลผลิตสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ตัดกิ่งที่เป็นโรค หรือมีรอยหนอนเจาะไปทำลายทิ้งนอกแปลง นับเป็นวิธีป้องกันโรคราสนิม และศัตรูพืชตัวร้ายอย่างหนอนแดง ที่จะทำให้ต้นกาแฟตาย ทำลายผลผลิตที่มีคุณภาพ
5. การเก็บเกี่ยวผลกาแฟ
เก็บเมื่อผลกาแฟมีสีส้ม ส้มแดง หรือสีเหลือง ขึ้นกับสายพันธุ์ โดยให้ทยอยเก็บเกี่ยว
คัดเลือกผลกาแฟ โดยทำการเทผลกาแฟลงในภาชนะบรรจุน้ำสะอาด ผลไหนที่ลอยขึ้นเหนือผิวน้ำจะทำการคัดทิ้ง เพราะเป็นผลที่ไม่สมบูรณ์
จะเห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพสูง สู่เครื่องดื่มรสชาติกลมกล่อมที่ถูกคอคนกาแฟ ต่างก็ต้องผ่านกรรมวิธี และอาศัยความเอาใจใส่ในทุก ๆ ขั้นตอน และที่ Dao Coffee เราก็เต็มที่กับทุกการคัดสรร จนกลายมาเป็นเมล็ดกาแฟลาวจากที่ราบสูงโบลาเวนที่มีคุณภาพ ปลูกบนพื้นดินภูเขาไฟเก่า ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร
พิถีพิถันทุกกระบวนการ ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการแปรรูป เพื่อให้ได้กาแฟที่รสชาติเข้มข้น กลมกล่อม เสิร์ฟเสน่ห์จากธรรมชาติสู่แก้วกาแฟของคุณอย่างแท้จริง สั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ของเรา หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ทาง LINE Official และเบอร์ 081-854-8277
ข้อมูลอ้างอิง
เทคนิคการปลูก และดูแลรักษากาแฟ. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 จาก https://www.opsmoac.go.th/amnatcharoen-dwl-files-451491791013
การเพาะกล้ากาแฟและการบำรุงรักษากล้ากาแฟ. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 จาก http://www.fio.co.th/km/km/km2565/p651031-2.pdf
A Guide to Growing Healthy Coffee Trees. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 จาก https://perfectdailygrind.com/2017/12/a-guide-to-growing-healthy-coffee-trees/
Comments